สงกรานต์นี้ เที่ยวปัว ปลอดภัย สสส. สานพลังเทศบาลตำบลปัว

เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 ที่ เทศบาลตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 7 แห่ง จัดกิจกรรมลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการความปลอดภัยทางถนน “ ตำบลขับขี่ปลอดภัย” สร้างความปลอดภัยทางถนน ลดอุบัติเหตุในระดับชุมชน โดย จังหวัดน่าน และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัย สร้างความปลอดภัยทางถนนให้ผู้นำ-เด็กเยาวชน-ผู้สูงอายุ ปรับสภาพถนน-จุดเสี่ยง-ไฟส่องสว่าง พัฒนาทักษะ อสม.ช่วยเหลือกู้ชีพ-อาสาจราจร สร้างพื้นที่สวมหมวกกันน็อก 100% เตรียมพร้อมรับรองนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาล

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน บูรณาการองค์ความรู้ชุมชน และความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ขยายเครือข่ายการทำงานสู่ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบกลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยเทศบาลตำบลปัว เป็นหนึ่งในตำบลขับขี่ปลอดภัย ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ เช่น การแก้ไขจุดเสี่ยง ย้ายจุดกลับรถ ปิดจุดกลับรถในช่วงเทศกาล วางแผนกั้นจราจร เพื่อป้องกันการกลับรถ และมีการกวดขันวินัยจราจรให้มีการสวมหมวกนิรภัย 100% เพิ่มจุดสังเกตมีการติดตั้งไฟส่องสว่างให้สัญญาณกับผู้ที่ใช้รถใช้ บริการให้ความช่วยเหลือ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และบริการดูแลที่บ้านตามความรุนแรงของการได้รับอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรม พัฒนาทักษะอาสาสมัคร อสม. อาสาจราจร สร้างความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ โดย สสส. ได้หนุนเสริมพลัง 2 ส่วน 1.วิเคราะห์ความเสี่ยง-อุบัติเหตุ สู่การวางแผนแก้ไขปัญหาของพื้นที่ 2.เสริมเทคนิคแนวคิดใหม่ สร้างมาตรการลดอุบัติเหตุ ด้วยแนวคิดใช้พื้นที่เป็นฐาน รวมถึงเสริมองค์ความรู้และเครื่องมือ

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. แปลงนโยบายสู่ปฏิบัติการในพื้นที่ผ่านการขับเคลื่อน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ตั้งแต่ปี 2557 ดำเนินงานลดอุบัติเหตุโดยชุมชนท้องถิ่นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการดึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย อาทิ อบต. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่ม-กองทุนสวัสดิการ อสม. อพปร. รพ.สต. ตำรวจ จนเชื่อมร้อยเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพในการจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น ในปี 2565 จึงได้เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย 115 อปท. และปัจจุบันได้ขยายการทำงานอีก 84 อปท. รวมเป็น 189 อปท. ทั่วประเทศ ด้วยชุดกิจกรรมสำคัญ 5 กิจกรรม คือ การพัฒนาศักยภาพคน-รถ-ถนน การจัดสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม การพัฒนานโยบายและแผน การบริการและช่วยเหลือ การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยใน 3 ระยะทั้งในระยะป้องกัน-เฝ้าระวัง ระยะช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ และระยะหลังเกิดเหตุ-ฟื้นฟู เพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะของการสานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

“เทศบาลตำบลปัว มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ในช่วงวันหยุด หรือเทศกาล จะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก มีการใช้รถใช้ถนนอย่างคับคั่ง และเกิดปัญหาอุบัติเหตุทั้งถนนเส้นหลัก และเส้นรอง มีจำนวนจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บ สสส. จึงได้หนุนเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ทั้งในด้านองค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่ โดยเทศบาลตำบลปัวได้มีการจัดสภาพถนน และสิ่งแวดล้อม สำรวจ และวิเคราะห์จุดเสี่ยงอันตราย ติดป้ายเตือน ป้ายทางแยก ป้ายทางโค้ง ลดความเร็วในชุมชน ตัดแต่งพุ่มไม้ กำจัดป้ายโฆษณาที่บดบังป้ายจราจร และซ่อมบำรุงไฟฟ้าสาธารณะ ให้ส่องสว่างครบครอบคลุมทุกชุมชน ทำความสะอาดผิวถนน ทาสี ทำเครื่องหมายบริเวณหลุมบ่อบนผิวถนนให้ผู้ใช้ทาง นอกจากนี้ยังมีการอบรมอาสาสมัครในพื้นที่ ให้ความรู้สร้างความปลอดภัยทางถนน ลดอุบัติเหตุในระดับชุมชน” ดร.นิสา กล่าว

นางยุภา ปัญญาวรรณรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลปัว จ.น่าน กล่าวว่า เทศบาลตำบลปัวมีจำนวนจุดเสี่ยงอันตราย หรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จำนวน 66 จุด เป็นจุดเสี่ยงบนถนนสายหลัก 19 จุด สายรอง 22 จุด ทางแยก 20 จุด ทางโค้ง 4 จุด และไม่มีสัญญาณไฟส่องสว่าง 1 จุด เทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้พัฒนาพื้นที่รองรับการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทางทั้งประชาชน และนักท่องเที่ยว หลังจากการดำเนินงานพบว่า 1. ระดับบุคคล เกิดความตระหนัก และเข้าใจกฎจราจร 2. ระดับหมู่บ้าน ลดจำนวนอุบัติเหตุที่รุนแรง และการสูญเสียที่เกิดขึ้น 3. จุดเสี่ยงในพื้นที่ลดลง ลดอุบัติเหตุที่รุนแรง พิการ หรือเสียชีวิต ตั้งเป้าว่าจะให้เทศบาลตำบลปัว เป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100% ลดเจ็บ ลดตายให้เป็นศูนย์

นางยุภา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้ขยายการทำงานครอบคลุมถึงการบริการให้ความช่วยเหลือ บริการดูแลที่บ้านตามความรุนแรงของการได้รับอุบัติเหตุ และ ฝึกอบรม พัฒนาทักษะ อาสาสมัคร อสม. ทำงานในพื้นที่ตรวจสอบจุดเสี่ยง จุดอันตราย รวบรวมข้อมูลนำมาประชุมปรึกษาหารือ และเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือลดอุบัติเหตุบนท้องถนน จัดตั้งหน่วยบริการ ดูแล เฝ้าระวัง พัฒนาทักษะการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับคนในครอบครัว ให้กับเด็กเยาวชน ผู้นำ แกนนำ อาสาสมัครในชุมชน พัฒนาสู่อาสาจราจร โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ได้การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจไม่คุ้นชินเส้นทาง และสภาพถนน ถนนบางเส้นเป็นเส้นทางที่แคบ เป็นทางที่ลงเนินหากขาดความระมัดระวังอาจเกิดอุบัติเหตุได้ พร้อมทั้งเตรียมพร้อมพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ด่านชุมชน ตรวจจับเตือนผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว และป้องกันการเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่พร้อมบริการ 24 ชั่วโมง


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar