อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ปฏิบัติการเชิงรุกควบคู่การดับไฟป่าด้วยการเข้าหาชุมชน สร้างการรับรู้ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ในห้วงระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 นายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าและหมอกควันอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และ นายเจตน์ อิ่มใจ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าศรีน่าน พร้อมด้วยชุดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเชิงรุก ควบคู่การดับไฟป่า ด้วยการเข้าหาชุมชน สร้างการรับรู้ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยลงพื้นที่ ตำบลน้ำมวบ - ตำบลส้าน อำเภอเวียงสา / ตำบลศรีษะเกษ - ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย / ตำบลบ่อแก้ว - ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน และ บ้านห้วยไผ่ ม.8 ตำบลท่าแฝก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 เปิดเผยว่า ในขณะที่สถานการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีน่านติดต่อมาเป็นเวลาหลายวันต้องระดมสรรพกำลัง จากชุดปฏิบัติการจากอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดน่าน สถานีควบคุมไฟป่าในท้องที่จังหวัดน่าน ตลอดจนถึงชุดเสือไฟจากพิษณุโลกและชุดเสือไฟจากสกลนคร มาปฏิบัติการเพื่อให้ไฟป่าที่ลุกโชนในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ดับลง ซึ่งสถานการณ์นี้การบัญชาการในระดับสูงได้มีการลงพื้นที่โดยได้ลงพื้นที่ติดตาม สถานการณ์อย่างต่อเนื่องสำหรับในระดับพื้นที่ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ปฏิบัติมีนายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ดำเนินการในการบัญชาการแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดเวลา

แต่การดำเนินการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นด้านเดียวนั้นอาจจะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุแต่ต้นเหตุคือ คน การเข้าหาชุมชนเพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจให้เกิดการรับรู้ในสถานการณ์ว่า ไฟป่านั้นคุกคามทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าซึ่งเป็นทรัพยากรของทุกๆคนในแผ่นดินอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ถ้าหากต้องการให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่านั้น ต้องสร้างการรับรู้ในเรื่องของประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทุกท่านทราบดีว่าป่าไม้มีคุณประโยชน์อย่างไรกับทุกคน น้ำท่าที่ได้มาในการอุปโภคบริโภคนั้นเพราะต้นน้ำลำธารซึ่งอยู่ในป่าในพื้นที่ป่า ถ้าหากถูกทำลายก็จะทำให้แหล่งต้นน้ำที่คอยผลิตน้ำให้ทุกๆคน ได้ใช้ได้ดื่ม ถูกทำลายไปด้วยเมื่อคนเป็นปัญหาและต้นเหตุจึงต้องดำเนินการพูดคุยสร้างการรับรู้ใหม่

อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีความคาดหวังว่าการดำเนินการเข้าหาผู้คนไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหารพื้นที่ตลอดจนถึงผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าจะได้รับรู้รับทราบและเกิดการปรับเปลี่ยนมาดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของตนเองไว้ให้มากกว่านี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการลดปัญหาเรื่องการเผาอันจะนำไปสู่การเกิดไฟป่าที่ยากต่อการแก้ไขต่อไป การลงพื้นที่ครั้งนี้สอดคล้องกับการดำเนินการภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้วย


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar